ศักยภาพและความพร้อมของจังหวัดตาก ในการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
ภาพที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก
จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ชายแดน และเป็นพื้นที่ที่มีมีศักยภาพพอสมควรในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมถึงความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนดังนั้น ลักษณะของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ต้องการดำเนินการ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Border Economic Zone) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบหนึ่งที่มีเขตพื้นที่ติดชายแดน โดยส่วนใหญ่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หรืออุตสาหกรรมส่งเสริม และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรือ อุตสาหกรรมส่งเสริม ภายในเขตดังกล่าวประกอบด้วยศูนย์บริการด้านศุลกากร แบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกและนำเข้าสินค้าชายแดน คลังสินค้า และอาคารพาณิชย์ และส่งเสริมสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีเช่นเดียวกับ นิคมอุตสาหกรรมทั่วไป (General Industrial Estate) การยกเว้นภาษีนำเข้า การยกเว้นภาษีเงินได้ การตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนและศูนย์กระจายสินค้าด้าน Logistics เป็นต้น
ภาพที่ 2 โครงข่ายการคมนาคมทางบก ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ Economic Corridor
ภาพที่ 3 การเชื่อมโยงโลจิสติกส์ อินโดจีน
ด้วยศักยภาพและความพร้อมของเมือง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุนภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่แม่สอดสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (Myawady Trade Zone) ของสหภาพพม่า ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 10 กิโลเมตร และมีพื้นตั้งอยู่ปลายแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor : EWEC) เป็นจุดตัดระหว่างแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ North-South Economic Corridor (NSEC) มีโครงข่ายการคมนาคมทางบกที่สนับสนุนการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า มีสนามบินพาณิชย์ เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความโดดเด่นเฉพาะ ตัว ตลอดจนเป็นประตูสู่อันดามัน และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ พม่า จีน และสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าขายเป็นประตูสู่ยุโรปได้ ประกอบกับมีมูลค่าการค้าขายชายแดน ปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2558 ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะเพิ่มมูลค่าการค้าขายชายแดนกว่า 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ต่างสนใจมาลงทุนในพื้นที่อำเภอแม่สอด ด้านการค้าขาย ด้านอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยว ด้านค้าอัญมณี ด้านเกษตรกรรม และโดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจจีน มีความสนใจที่จะมาลงทุนหรือร่วมทุนกับรัฐบาลไทยในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 โครงการขุดเจาะอุโมงค์ถนนสายเอเชีย (แม่สอด-ตาก) โครงการศูนย์อุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงด้านเกษตรกรรม แต่ทั้งนี้พื้นที่แม่สอด จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องระเบียบกฎหมาย ผังเมืองรวมเมืองแม่สอดจะต้องสอดคล้องกับการพัฒนา มีการกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ชัดเจน
ภาพที่ 4 ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) จังหวัดตาก